ตม. เป็นชื่อย่อของ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งทุกประเทศจะต้องมีประจำที่สนามบินทุกแห่ง สำหรับบางคนที่ไม่เคยไปเที่ยวต่างประเทศมาก่อนอาจรู้สึกหวั่น ๆ ในใจได้เหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งแรกที่เราจะต้องเจอ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองถามอะไรมา ให้ตอบด้วยข้อความสั้น ๆ ไม่เยิ่นเย้อมากมาย จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ยิ่งมีความวิตกกังวลหรือตื่นเต้นจนเกินไป เจ้าหน้าที่ก็จะถามเรื่อย ๆ เพื่อดูท่าทีของเราหากมีอาการลนมากกว่าปกติ อาจจะทำให้เสียเวลาจากการถูกเรียกตัวไปสอบเพิ่มเติมได้ ด้วยเหตุนี้มาดูวิธีตอบคำถาม ตม. อย่างชาญฉลาด ดูน่าเชื่อถือ มีอะไรบ้างรวมมาให้แล้ว ไปดูกันเลย
คำถามพบบ่อย และวิธีตอบให้ผ่านได้อย่างง่าย ๆ
1. What is the Purpose of Your Trip? การเดินทางครั้งนี้ของคุณมีเป้าหมายเพื่ออะไร? นับว่าคำถามเริ่มต้นที่มักเจอบ่อยที่สุด ซึ่งเป็นการลองเชิงและดูปฏิกิริยาของเรา ดังนั้นการตอบตรงตามวีซ่าที่ขอมาสั้น ๆ อย่าง มาเที่ยว เรียน หรือติดต่อเรื่องงาน เพียงเท่านี้ก็อาจจะผ่านเข้าไปได้แล้ว แต่หากมีอาการประหม่าอย่างเห็นได้ชัดก็จะมีคำถามอื่น ๆ ตามมา
2. How Long do you Intend to Stay? คุณจะอยู่นานแค่ไหน? วิธีตอบคำถาม ตม. อย่างชาญฉลาดนั้นให้ตอบตามแพลนที่เราได้กำหนดไว้ เช่น 5 วัน 10 วัน เป็นต้น แต่บางกรณีที่ไม่มีกำหนดวันกลับ ควรประมาณคราว ๆ หากพำนักไม่เกิน 1 อาทิตย์ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้ายาวนานกว่านี้เจ้าหน้าที่อาจจะมีคำถามต่อไป ที่สำคัญไม่ควรตอบไปว่า ไม่รู้กำหนดวันกลับแน่นอนอย่างเด็ดขาด
3. Where will you be Staying? คุณจะพำนักอยู่ที่ไหน? ในคำถามนี้ควรตอบแบบเจาะจง เช่น ฉันจะไปพักที่โรงแรมชื่อ… หรือ ค้างที่บ้านญาติ/ครอบครัว/เพื่อนที่… (ควรเป็น เลขที่ตั้ง ชื่อถนน เมือง จังหวัด) เป็นต้น จะดียิ่งขึ้นหากเตรียมเอกสารการเข้าพักยื่นให้เจ้าหน้าที่ดูได้เลย
4. What is your Occupation? อาชีพปัจจุบันของคุณคืออะไร? คำถามนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการลองเชิงในเรื่องความซื่อสัตย์ หากตอบไม่ตรงกับความเป็นจริงอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ ที่สำคัญห้ามตอบว่า “ว่างงาน” เด็ดขาด เพราะไม่เป็นวิธีตอบคำถาม ตม. อย่างชาญฉลาดแน่นอน
5. Are you Traveling Alone? เดินทางมาเพียงลำพังใช่ไหม? หากเรามาคนเดียวก็ให้ตอบได้เลย แต่ถ้าไม่ เจ้าหน้าที่จะสอบถามต่อว่ามากับใคร ก็ให้คำตอบแบบตรงไปตรงมา เช่น เพื่อน แฟน พ่อ แม่ ลูก พี่ชาย พี่สาว เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องตอบเป็นชื่อจริงหรือชื่อเล่น ควรเน้นไปที่ความสัมพันธ์จะดีกว่า
6. Do you have Family Here? คุณมีญาติ พี่น้อง ครอบครัวอยู่ที่นี่ใช่หรือไม่? เมื่อไม่มีก็ให้ตอบว่าไม่มี แต่หากมีเจ้าหน้าที่จะถามต่อว่ามีความความสัมพันธ์กันอย่างไร อยู่ที่ไหน ทางที่ดีการเตรียมข้อมูลเหล่านี้ให้พร้อมจะทำให้ง่ายขึ้น เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร อีเมล อาชีพ เป็นต้น
7. Have you ever been Here? คุณเคยมาที่นี่แล้วใช่ไหม? หากเคยมาอย่างน้อยครั้งหนึ่งควรตอบแบบเจาะจงเล็กน้อย เช่น เคยมาเมื่อเดือนที่แล้ว ปีที่แล้ว เป็นต้น ทั้งนี้อาจจะมีคำถามต่อมาว่ามาคำอะไร ก็ให้ตอบไปตามความเป็นจริง
เทคนิคผ่าน ตม. ให้ผ่านทุกประเทศแบบไม่มีส่งกลับ
1. แต่งกายให้เหมาะสม แต่ไม่ต้องถึงกับใส่สูทผูกไท ขอแค่เรียบง่าย ดูดี และควรศึกษาประเทศปลายทางด้วยว่า พวกเขายอมรับ หรือไม่ยอมรับ เสื้อผ้าแบบไหน
2. เตรียมเอกสารให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็น สำเนาตั๋วเครื่องบินไป-กลับ พร้อมแสดงวันเวลาอย่างชัดเจน สำเนาการจองห้องพัก พาสปอร์ต บัตรประจำตัวประชาชน บัตรนักศึกษา รวมถึงรายเอียดญาติพี่น้องประเทศปลายทาง (ถ้ามี)
3. แผนการท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมอะไรบ้างที่จะต้องทำระหว่างพำนักอยู่ในประเทศปลายทาง เพื่อแสดงตัวว่ามาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
4. ฝึกภาษา เพื่อตอบคำถาม ตม. ตามบทความที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ควรตั้งใจฟัง และค่อย ๆ ตอบไปทีละข้อ
5. ห้ามหลบตา และอย่าลน แม้ว่าจะตื่นเต้นขนาดไหนก็ตาม หากหลบตาเจ้าหน้าที่ขณะตอบคำถาม หรือมีอาการลนผิดปกติ อาจกลายเป็นพิรุธ แม้ว่าไปเพื่อการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง แต่ก็จะทำให้เสียเวลาไปนั่งห้องสอบสวนเพิ่มเติมได้
จะเห็นได้ว่าวิธีตอบคำถาม ตม. อย่างชาญฉลาดทำได้ไม่ยากเลย หลักสำคัญคือความตื่นเต้น ทำให้เราแสดงอาการต่าง ๆ ที่ดูน่าสงสัย หลายคนเดินผ่านอย่างง่ายดายเพียงแค่ยื่นเอกสาร แต่บางคนอาจจะโดนถามเยอะไปหน่อย แต่ไม่ควรตกใจ ฟัง และตอบคำถามอย่างช้า ๆ สบตาเจ้าหน้าที่ด้วยความเป็นมิตร ที่สำคัญอย่าชวนคุยเรื่องอื่น ๆ ที่นอกเหนือประเด็นเด็ดขาด เพียงเท่านี้ก็ผ่าน ตม.แบบฉลุยลุยได้ทุกประเทศแล้ว
เครดิตภาพ : gettgo.com / cigna.co.th / prachachat.net
YouTube : 5 คำถามรู้ไว้ ไม่ติดตม.
#เทคนิคผ่าน ตม. #ตอบคำถาม ตม. #รู้ก่อนเที่ยว